Richard ให้สัมภาษณ์เรื่องการแปลสคริปต์เกมจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ

ตัดตอนจากบทสัมภาษณ์อันเก่าแก่ทางอีเมลระหว่างเว็บ FFcompendium กับคุณ Richard Honeywood ซึ่งเป็นสมาชิกอาวุโสคนหนึ่งใน Localization Team ของ Square Enix โดยคุณ Richard ได้มีส่วนร่วมในการแปลเกมต่างๆ ให้กับทาง Square มาตั้งแต่ปี 1998 โดยตัวบทสัมภาษณ์แบบเต็มนั้นก็ได้ถามถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการแปลเกม แต่มีอยู่ประเด็นหนึ่งตรงกับที่ผมต้องการหาคำตอบพอดี เลยตัดตอนมาดังนี้

FFcompendium : คุณเคยกังวลกับเสียงตอบรับจากแฟนๆ มั้ยว่าคุณไป “บิดเบือน” หรือเบี่ยงเบนเนื้อหาไปจากภาพลักษณ์ของตัวเกมเวอร์ชั่นญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่รักของแฟนๆ? เคยเสียใจกับการตัดสินใจบางอย่างในการ Localization หรือไม่?

Richard : ก็อย่างที่ Peter Jackson กล่าวไว้ถึงหนัง Lord of the Rings ของเขาว่าเขาไม่ได้กังวลกับการที่ผู้คนต่างบอกว่าเขาทำให้ (เวอร์ชั่น) หนังสือเสื่อมเสียเลย หนังสือมันก็อยู่ของมันที่เดิมนั่นแหละ สำหรับเกมเองก็เหมือนกัน... ตัวเกมต้นฉบับมันก็ยังอยู่เพื่อคนที่พูดภาษาญี่ปุ่นเหมือนเดิม

บางคนอาจไม่เห็นด้วยกับการแปลความเกมของพวกเรา แต่เราจะไม่แปลอย่างทื่อตรงตามตัวอักษรเด็ดขาด งานของเราในฐานะทีม Localization คือการทำให้ตัวเกมต้นฉบับ ให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด เข้าถึงได้ง่ายที่สุด แก่ผู้เล่นที่ใช้ภาษาตามเป้าหมายของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยปกติแล้ว คนที่พูดว่าเราแปลแบบบิดเบือนเนื้อหานั้น ก็คือคนที่ใช้สองภาษา... แต่การที่คุณใช้สองภาษาได้นั้นมันทำให้คุณมีมุมมองที่แตกต่างไปจากมุมมองของคนส่วนใหญ่ มันฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โตและรุนแรงมากนะที่โจมตีว่าเราไปเปลี่ยนแปลงเนื้อหา แต่มันก็มีเหตุผลอยู่มากมายที่ทำให้เราไม่สามารถแปลให้ตรงตามตัวอักษรได้


Brian ได้ฝากความเห็นคล้ายๆ กันมาด้วยว่า “ยากนะที่จะพูดว่าแบบไหนเป็นการบิดเบือน และแบบไหนไม่ใช่การบิดเบือน แน่ล่ะว่าเกมเมอร์บางส่วนก็เลื่อมใสในตัวเกมเวอร์ชั่นญี่ปุ่นของเรา เกมเมอร์เหล่านี้คงอยากให้พวกเราแปลทุกอย่างตรงตามตัวอักษร และปล่อยให้พวกเขาไปแปลความกันเอาเอง แต่ผมว่าเกมเมอร์ส่วนใหญ่น่ะ เขาเพียงต้องการที่จะเล่นแล้วสนุกไปกับเกม ให้ได้รู้ว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้นโดยไม่ต้องมาปวดหัวกับกำแพงภาษา ดังนั้น Localization จึงเป็นมากกว่าการแปล ยิ่งกรณีที่การแปลตรงตัวแล้วมันฟังดูงี่เง่า (หมายถึงใช้รูปประโยคที่ฝรั่งเขาไม่พูดกัน) หรือชวนให้สับสน เราก็ต้องเปลี่ยนเพื่อให้มันเป็นธรรมชาติมากขึ้น ส่วนตัวแล้วผมไม่ได้เสียใจกับการเปลี่ยนแปลงนั้น การ Localization ไม่ได้เป็นการทำลายตัวเกมต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น เพราะยังไงมันก็อยู่ของมันอย่างงั้น มันก็แค่เป็นการหาจุดกึ่งกลางระหว่างความศรัทธาต่อต้นฉบับกับการทำให้เกมเมอร์กลุ่มใหญ่เข้าถึงเกมกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ตัวอย่างเช่น Chocobo Racing ซึ่งในฉาก Hungry Land ของตัวเกมเวอร์ชั่นญี่ปุ่น (ภาคอังกฤษเรียกว่า Gingerbread Land) ตัวละคร FF นั้นต่างก็แต่งตัวเป็นตัวละครจากเรื่องโมโมทาโร่ และพูดเรื่องงี่เง่ากัน ในเวอร์ชั่นอังกฤษพวกเราเลยเปลี่ยนให้กลายเป็น Hansel and Gretel พวกเถรตรงคงเถียงว่าเราควรจะคงคำว่า Hungry Land และเก็บประโยคแปลกๆ ที่อ้างอิงถึงโมโมทาโร่เอาไว้ แต่ในเมื่อกลุ่มเป้าหมายของเราคือเด็ก มันย่อมดีกว่าแน่ๆ หากเราจะเปลี่ยนให้มันกลายเป็นสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยกันมากกว่า

นอกจากนี้ Collin ก็ฝากความเห็นที่น่าสนใจมาว่า “เรารู้ดีว่าผู้เล่นจะเอาเรื่องความเปลี่ยนแปลงนั้นมาเป็นประเด็น บอกได้ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นก็มีขึ้นเพื่อทำให้มันชัดเจนขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านเรท ESRB และบางประโยค (ถ้าแปลตรงๆ แล้ว) มันก็ไม่เมคเซนส์ในภาษาอังกฤษเลย ยิ่งสิ่งที่เป็นญี่ปุ่นจ๋าอย่างฮาร์ดคอร์ มันอาจฟังดูตลกขบขัน ทำให้คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้คลั่งไคล้ญี่ปุ่นขนาดนั้น เมื่อซื้อไปเล่นก็ต้องพากันเกาหัวด้วยความสับสน ถ้าการบิดเบือนที่ว่านั้นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาภาษาญี่ปุ่นเดิม ให้กลายเป็นสิ่งน่าสนใจ เข้าใจง่าย และทำให้คนเล่นเกมทั่วไปที่ใช้ภาษาอังกฤษสนุกไปกับมันได้ เราก็จะรับคำนั้นไว้ การ Localization นั้นไม่ควรจะเป็นแปลอย่างทื่อๆ ตรงๆ โดยขาดการตกแต่ง”

ที่จริงแล้วบางครั้งเวอร์ชั่นอังกฤษก็ดีกว่าเวอร์ชั่นญี่ปุ่นด้วยซ้ำ เพราะเราสามารถเอาบั๊คที่พบในเวอร์ชั่นญี่ปุ่นออกไปได้ แล้วทีมงานบางคนก็อยากจะเพิ่มหรือแก้อะไรบางอย่างในตัวเกมเวอร์ชั่นตามประเทศ ตัวอย่างเช่น Chrono Cross คุณคาโต้ที่เขียนสคริปต์ยอมรับว่าเขาอธิบายปูมหลังของเหตุการณ์ และความสัมสัมพันธ์ระหว่างผู้คนได้ไม่เคลียร์ เราเลยเพิ่มข้อความลงไปในเวอร์ชั่นอังกฤษ เช่นความสัมพันธ์ระหว่าง Korcha กับน้องสาว Mel ซึ่งอธิบายไม่ชัด และเหตุผลที่มีดวงจันทร์ 2 ดวงใน Chrono Cross (ใน Chrono Trigger ยังมีแค่ดวงเดียว) และเรื่องว่า Belthasar วางแผนทำให้กาลเวลาพินาศหรือไม่ สิ่งเหล่านี้มันอธิบายไว้ไม่ค่อยดี ดังนั้นคุณคาโต้และผมจึงเขียนส่วนนี้ขึ้นใหม่ในเวอร์ชั่นอเมริกาเหนือ

ความใกล้ชิดสนิทสนมต่อทีมพัฒนาที่นั่งอยู่รอบๆ ตัวเราในแต่ละโปรเจคท์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากจริงๆ พวกเขาก็คอยดูภาษาอังกฤษของพวกเรา (รวมถึงภาษาอื่นๆ ด้วย) และแสดงความเห็นต่างๆ มา ทีมงานบางคนก็ยืนยันหนักแน่นว่าเราไม่ควรเปลี่ยนจุดนั้นจุดนี้ แต่คนอื่นๆ ก็เชื่อใจเราถึงขั้นว่าเราไม่ต้องไปชี้แจงถึงการเปลี่ยนแปลงนั้นก็ได้ (แต่ถึงกระนั้น ผมก็จะยังคงทำด้วยความสุภาพ และเคารพต่องานของพวกเขา)

ผมนึกไม่ออกนะว่าผมจะเสียใจต่อการที่ผมไปเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในส่วนไหน  และผมก็พยายามทำให้มันดีที่สุดมาโดยตลอด บางครั้งผมก็หวังนะว่าทีมงานจะอนุญาตให้ผมเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้ ถ้าสิ่งเหล่านั้นมันไปรบกวนความเป็น Perfectionist ในตัวผม แต่ผมก็เคารพในความต้องการของทีมงาน และในฐานะที่ผมเองก็เป็นผู้กำกับ ผมก็ตระหนักดีว่าเวลาและเงินทุนก็เป็นปัจจัยที่จำเป็นด้วย

ที่มา : FFcompendium

------------------------------------------------------------------

ความเห็นปิดท้าย : ส่วนตัวผมแล้ว ผมผ่านเรื่องนี้มาถึงช่วงชั้นที่ 4 กล่าวคือ

1. ช่วงที่ไม่รู้ว่าสคริปต์ญี่ปุ่นกับอังกฤษมันแตกต่างกัน

2. ช่วงที่เริ่มรู้ว่าสคริปต์ญี่ปุ่นกับอังกฤษมันแตกต่างกัน แต่ไม่ได้สังเกต ไม่ได้ใส่ใจ

3. ช่วงที่สังเกตและใส่ใจถึงความแตกต่างกัน และคิดว่าคนแปลบิดเบือนเนื้อหาไปไกล (เป็นภาวะนี้มาจนถึงไม่กี่ปีนี้เอง)

4. ช่วงที่รู้แล้วว่าการจะวางจำหน่ายเกมญี่ปุ่นในตะวันตก ทีมแปลจะแปลมันทื่อๆ ตรงๆ ไม่ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจก่อน แล้วแปลงให้มันเป็นสำนวนและวิธีการพูดแบบชาวตะวันตก เพราะขืนแปลเป็นภาษาอังกฤษแบบทื่อๆ ตรงๆ... คนเอเชียอย่างเราๆ ซึ่งมีวัฒนธรรมและวิธีคิดใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่นก็อาจเข้าใจได้ แต่ชาวตะวันตกที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของตัวเกมเวอร์ชั่นอังกฤษเขาไม่เข้าใจไปกับเราด้วย...

บางครั้งถ้าสคริปต์เวอร์ชั่นญี่ปุ่นมันเขียนมาเป็นโคลงกลอนสวยงาม การแปลทื่อๆ ตรงๆ เป็นภาษาอังกฤษก็จะทำให้ความสวยงามนั้นพังทลายไป แถมยังจะได้รูปประโยคที่ชาวตะวันตกเขาไม่พูดกัน ดังนั้น ทีมแปลก็จำเป็นจะต้องอ่านทำความเข้าใจ แล้วเขียนสคริปต์อังกฤษขึ้นมาใหม่ ให้เป็นโคลงกลอนสวยงามในแบบภาษาอังกฤษ และให้ได้ใจความใกล้เคียงกับของญี่ปุ่นให้ได้มากที่สุด ซึ่งมันอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปบ้าง แต่มันเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้คนเล่นทั่วไปอ่านแล้วทำความเข้าใจได้

สคริปต์เวอร์ชั่นอังกฤษของภาคหลังๆ อย่าง FFXII, FFXIII ผมว่าใครที่ได้ตั้งใจอ่านจริงๆ จังๆ ไม่ได้อ่านผ่านๆ ก็น่าจะเห็นได้ว่าทีมแปลเขาเรียบเรียงขึ้นใหม่ได้สวยมาก หลายๆ จุดก็ทำเป็นภาษาไฮโซ โบราณ เปรียบเปรย หรือสะบัดสำนวนมาก จนบางครั้งก็ได้มอบประโยคเด็ดๆ ที่เป็นที่จดจำของแฟนๆ ขึ้นมาอย่าง “We live to make the impossible possible!”

รวมๆ แล้วผมเห็นว่าสคริปต์เวอร์ชั่นญี่ปุ่นก็มีความงามแบบหนึ่ง ส่วนสคริปต์เวอร์ชั่นอังกฤษที่ทีมของคุณ Richard ช่วยกันเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ มันก็มีความสวยงามของมันในอีกแบบหนึ่ง ไม่มีอันไหนเหนือไปกว่ากัน แม้เนื้อหาส่วนลึกอาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่ความแตกต่างนั้นก็มีขึ้นเพื่อทำให้ชาวตะวันตกที่มีประเพณี วิธีคิด วิธีการพูดแตกต่างจากชาวเอเชีย เข้าใจเกมกันได้ง่ายที่สุด

การแปลเกมแบบทื่อๆ ตรงๆ นั้นมันง่าย แต่ขืนทำแบบนั้นชาวตะวันตกก็คงจะไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาของเกมได้ ซึ่งคุณ Richard และทีมของเขาทราบในจุดนี้ดี การที่คุณ Richard และทีมได้ทุ่มเทที่จะทำความเข้าใจกับสคริปต์ภาษาญี่ปุ่น และเขียนเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ให้เป็นภาษาอังกฤษนั้น มันยากกว่าการแปลตรงๆ และเป็นมากกว่าการแปล ซึ่งเราต้องขอขอบคุณพวกเขาที่ช่วยกันทุ่มเทสร้างสรรค์สคริปต์เวอร์ชั่นอังกฤษที่สวยงามกันขึ้นมาได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น