ครบรอบ 32 ปีกับการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของฮิโรโนะบุ ซากากุจิ


จากความสำเร็จของ Dragon Quest ภาคแรก เป็นจุดเริ่มต้นให้มีผู้พัฒนาเกมมากมายเกิดแรงบันดาลใจ อยากจะท้าทายตัวเองด้วยการก้าวตามรอยเท้าอันยิ่งใหญ่นั้นไปสู่ความสำเร็จ

"Final Fantasy ก็เป็นหนึ่งในนั้น" - ฮิโรโนบุ ซากากุจิ เปิดใจไว้ในบทสัมภาษณ์ Famitsu ฉบับฉลองครบรอบ 20 ปี Final Fantasy ปี 2007

คุณซากากุจิ เริ่มต้นพัฒนา Final Fantasy ขึ้นมา แล้วก็หิ้ว ROM ของเกมที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ไปเสนอบรรณาธิการของนิตยสาร Family Computer Magazine เพื่อให้ช่วยโปรโมตเกมให้

เดิมแกคิดว่าในเมื่อ DQ กรุยทางให้เกม RPG มาถึงขนาดนี้แล้ว เกมที่พยายามตามรอยเดียวกันมาก็คงจะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี

ทว่าแกกลับคิดผิด ทางนิตยสาร Family Computer Magazine ในตอนนั้นไม่ให้ความสนใจใน Final Fantasy ที่แกนำมาเสนอสักเท่าไหร่ ทำให้คุณซากากุจิ จำชื่อนี้ฝังใจเรื่อยมา

แต่แล้วโชคก็ยังเข้าข้าง เมื่อมีนิตยสาร Famitsu เนี่ยแหละ ที่ให้ความสนใจในผลงานของแก และให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี....

จนบางคนคงคิดว่าอาจจะดีเกินไปด้วย เพราะ Famitsu ก็ช่วยสนับสนุน ผลักดัน Final Fantasy ทั้งในยามที่รุ่งเรืองหรือในวันที่เลวร้าย เรื่อยมาตลอดจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งคุณซากากุจิก็ยังคงซาบซึ้งในบุญคุณของ Famitsu ไม่รู้ลืม

คุณซากากุจิเปิดใจว่า การพัฒนา Final Fantasy นั้นไม่ค่อยราบรื่นเท่าไหร่ ตอนนั้นทีมงานประกอบด้วยสมาชิก 7 คน ซึ่งสมัยนั้นทีมงาน 7 คนถือว่าไม่น้อย...

แต่มันน้อยเมื่อเทียบกับทีมอื่น ๆ ในบริษัท โดยตอนนั้นคุณฮิโรมิจิ ทานากะ (ทีมงานผู้ร่วมออกแบบเกมภาค 1-3 และเป็น Producer ภาค 11) ถูกย้ายไปอยู่ทีมอื่นที่มีกันอยู่แล้วร่วม 20 คนด้วยซ้ำ

สถานการณ์ตอนนั้น คนก็น้อย ปัจจัยแวดล้อมไม่ดี ทำให้คุณซากากุจิในวัย 23-24 ปีเกิดความคิดขึ้นว่า

"ถ้าเกมขายไม่ดี จะลาออกจากวงการ แล้วกลับไปเรียนมหาลัยต่อ"

ซึ่งแกก็ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เพราะการกลับไปเรียนมหาลัยตอนนี้ ก็เหมือนไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยวัยที่แตกต่างจากคนอื่น แกกลัวว่าจะต้องไปเรียนหนังสือต่อหลายปีโดยที่ไม่มีเพื่อน มันดูอับจนหนทางจริง ๆ

ว่าแล้วพอถึงช่วงที่ต้องตั้งชื่ออย่างเป็นทางการให้กับเกม คุณซากากุจิเริ่มต้นจากไอเดียที่ว่า แกจะตั้งชื่อให้เกมใหม่มีตัวย่อว่า FF (エフエフ) เพื่อให้คนญี่ปุ่นเรียกสั้น ๆ ว่า "เอฟุเอฟุ" และคิดชื่อเต็มขยายขึ้นมาจากตัวย่อนั้นว่า Fighting Fantasy (ファイティングファンタジー)

ทว่าพอไปเช็คทะเบียนเครื่องหมายการค้า มันดันมีบอร์ดเกมที่ใช้ชื่อ Fighting Fantasy อยู่ก่อนแล้ว ทำให้จดทะเบียนชื่อนั้นไม่ได้ คุณซากากุจิเลยต้องกลับมาคิดตั้งชื่อใหม่

อยู่มาวันนึง แกคิดว่าส่วนตัวแล้วในเมื่อเกมนี้คือการดิ้นรน "เฮือกสุดท้าย" (Final) ของแกเอง หากไม่สำเร็จก็จะต้องถอยกลับไปเรียนมหาวิทยาลัย ก็เลยตั้งชื่อใหม่เป็น "Final Fantasy"

ภายหลังในปี 2015 ในงานสัมมนาเกมสัญชาติญี่ปุ่นที่ก้าวไกลสู่สากล ถึงซากากุจิก็ได้มีช่วงจับไมค์บรรยายถึงจุดกำเนิดของ Final Fantasy
.
ซึ่งเมื่อแกถูกถามว่า คิดยังไงกับการที่โลกพากันเชื่อว่า "Final Fantasy เกิดขึ้นในช่วงที่ Square กำลังจะประสบภาวะล้มละลาย บริษัทกำลังยืนอยู่ต่อหน้าปากเหวแห่งความหายนะ แต่ก็พอจะเหลือทุนก้อนหนึ่งเอาไว้ทำเกม เกมสุดท้าย เกมที่จะเดิมพันชะตากรรมความอยู่รอดของบริษัท จึงได้ตั้งชื่อเกมนั้นว่า Final Fantasy"

คุณซากากุจิก็ขอปฏิเสธทฤษฎีความเชื่อนั้น และบอกว่า "จริงอยู่ว่าสถานการณ์ตอนนั้นมันหลังชนฝา แต่จะเป็นคำที่ขึ้นต้นด้วย F คำไหนก็ได้ทั้งนั้นแหละ" (「確かに当時は背水の陣だったけれど、Fで始まる単語ならなんでもよかった」と、その説を否定した。)

จึงสรุปว่าตอนแรกแกก็จะตั้งชื่อเกมนี้ว่า Fighting Fantasy แต่มันซ้ำและจดทะเบียนไม่ได้ คุณซากากุจิเลยตั้งชื่อใหม่ พอคิดว่าถ้าทำแล้วแป้กก็จะออกจากวงการเพื่อไปเรียนต่อแล้ว ก็เลยตั้งชื่อให้เกมนี้ว่า "Final Fantasy"

คุณซากุจิยังได้เล่าต่อไปว่า สมัยนั้น (ค.ศ. 1987) การผลิตตลับเกมต้องใช้เวลานานถึง 2-3 เดือน ดังนั้น การผลิตเกมล็อตแรกก็ควรจะผลิตให้ได้พอดีกับยอดที่เกมน่าจะขายได้ ซึ่งเดิม Square ประเมินไว้ว่า Final Fantasy น่าจะขายได้เพียง 2 แสนตลับในญี่ปุ่น

แต่คุณซากากุจิ ไปขอร้องต่อรองให้ทำออกมา 4 แสนตลับวัดกันไปเลย ซึ่งก็ใช้เวลาต่อรองนานเพราะ Square ก็คิดว่าการผลิตเกมจำนวนขนาดนั้นก็ใช้ต้นทุนเยอะ ถ้าแป้กก็เจ็บตัวเยอะ

แต่สุดท้าย Square ก็บริหารจัดการให้ผลิตออกมาได้สำเร็จ และเกมทั้ง 4 แสนตลับนั้นก็ขายได้จนหมด...

เป็นเหตุผลให้การดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของคุณซากากุจิ ประสบความสำเร็จ และทำให้ซีรีส์นี้ ได้ออกเดินต่อไปสู่ก้าวที่ 2 3 4 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน...

...............................

หากถามซากากุจิว่า Final Fantasy มีความหมายกับเขาขนาดไหน คุณซากากุจิได้บอก Famitsu ไว้ในปี 2007 ว่า

"ย้อนไปตอนนั้นใจของเราไม่ได้คิดว่ากำลังผลิตสินค้า แต่กำลังสร้างสิ่งประดิษฐ์ แล้วทุ่มเทจิตวิญญาณของเราลงไปในผลงานนั้น ทุ่มเทไอเดียทั้งหมดของเราลงไปในเกมนั้น รวมถึงไอเดียที่ปิ๊งขึ้นมาระหว่างการพัฒนา ไม่มีกั๊กเหลือสิ่งใดไว้สำหรับทำภาคต่อ"

"เมื่อทำสำเร็จ เราจะเคว้งคว้างว่างเปล่า ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไป แต่ด้วยการผลักดันตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้า ก็จะพบเจอกับสิ่งใหม่ ๆ"

"คงเป็นเรื่องดีนะหากว่าจิตวิญญาณนั้นยังคงส่งต่อไปใน Final Fantasy นับจากนี้ไปสืบไป"

...............................

คุณซากากุจิยังบอกอีกว่าตั้งแต่ Final Fantasy V เป็นต้นมา เขากับคุณโยชิโนริ คิตาเสะ ได้พยายามเปลี่ยนแปลง Final Fantasy ด้วยไอเดียที่ไร้ขอบเขต

ถึงแม้ทุ่มไอเดียทั้งหมดไปจนว่างเปล่าแล้ว ครั้งถัดไปก็จะพยายามทุ่มเทไอเดียทั้งหมดที่มีลงไปใหม่ และ "เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง"

ด้วยความคิดนั้น จึงเป็นที่มาของประโยคสุดคลาสสิคที่คุณซากากุจิเคยพูดว่า "ขอแค่ยังมีกล่องข้อความสีน้ำเงินอยู่ (ทีมงาน) อยากจะทำเกมยังไงก็เอาเลย"

"ตราบใดที่ยังมีกล่องสีน้ำเงินและมีข้อความอยู่ข้างใน เกม ๆ นั้นจะยังคงเป็น Final Fantasy อยู่เสมอ"

--------------------------------------------------------

[อ้างอิง]

[1] บทสัมภาษณ์ Famitsu ฉบับฉลองครบรอบ 20 ปี Final Fantasy ปี 2007
https://www.mcvuk.com/sakaguchi-discusses-the-development-of-final-fantasy/

[2] ซากากุจิบรรยายในงานสัมมนาเกมสัญชาติญี่ปุ่นที่ก้าวสู่สากลปี 2015
https://www.famitsu.com/news/201505/24079276.html
https://kotaku.com/debunking-the-final-fantasy-naming-myth-1707389344
http://blog.gamekana.com/archives/8187822.html
https://www.thegamer.com/false-facts-about-final-fantasy-that-everyone-believed/

[3] บทสัมภาษณ์แฟมิซือในปี 2014
https://kotaku.com/what-final-fantasy-is-according-to-its-creator-1672622214

ไม่มีความคิดเห็น